นิยามที่ดีที่สุด
ทอม

"The101.World"
Creative Knowledge Media for Social Change
https://www.the101.world

"เป็นทอมแล้วมันทำไม"
หนึ่งในความหลากหลายทางเพศที่ยังไม่ถูกยอมรับในสังคมไทย?
เรื่อง: ศิรประภา จารุจิตร
ภาพประกอบ: จิราภรณ์ บุญเย็น
April 28, 2025

สำหรับคำว่า "ทอม" ที่ใช้เรียกกันในสังคมไทยนั้น สันนิษฐานว่ามาจาก "ทอมบอย" "Tomboy"
ชื่อภาพยนตร์สัญชาติอเมริกาเรื่องหนึ่งที่เข้ามาฉายในประเทศไทยในช่วงทศวรรษ 1980 ตอนปลาย
โดยคำว่า "Tomboy" แท้จริงแล้ว
หมายถึง เด็กผู้หญิงที่สังคมมองว่ามีการแสดงออกทางเพศ (Gender Expression)
คล้ายเด็กผู้ชาย แต่ไม่ได้บ่งบอกถึงรสนิยมความชอบทางเพศ (Sexual Orientation)

อย่างไรก็ตาม ในประเทศไทย คำว่า "ทอม" ที่เราใช้กลับมีความหมายหลากหลาย
หลายคนใช้เรียกครอบคลุมทั้งกลุ่มผู้ที่มีเพศกำหนดตอนเกิด (Sex Assigned at Birth) เป็นหญิง
แต่มีอัตลักษณ์ (Gender Identity) การแสดงออกทางเพศเป็นชายหรือคล้ายชาย และชอบเพศหญิง
(เปรียบได้กับคำว่า Butch Lesbian ในภาษาอังกฤษ)
ทั้งกลุ่มที่มีบุคลิกลักษณะ และการแต่งตัวคล้ายชายอย่างเดียว
หรือกระทั่งใช้เรียกกลุ่มชายข้ามเพศ (Transmen) ก็มี


แม้ว่านิยามของ "ทอม" ในไทยจะลื่นไหล
แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าส่วนหนึ่งของ "ทอม" ถูกผูกติดกับ "ความเป็นชาย" (Masculine)
ไม่ว่าในแง่ของการแสดงออก บทบาททางเพศ
รวมถึงรสนิยมทางเพศกระแสหลักที่เพศชายต้องชอบเพศหญิง
ความ "คล้าย" ตรงนี้อาจทำให้คนบางกลุ่มในสังคมมองว่า "ทอม" เป็นผู้ลอกเลียนแบบเพศชาย
จนเกิดการไม่ยอมรับ "อัตลักษณ์" และนำไปสู่ความเกลียดชังและการล้อเลียน
ผ่านประโยคอย่าง

"นิ้วเย็นๆ หรือจะสู้เอ็นอุ่นๆ"
"เปลี่ยนทอมให้เป็นเธอ"
"แก้ทอม์" "ซ่อมดี้" ฯลฯ

ตลอดจนนำไปสู่ความรุนแรงทางเพศ
เช่น การคุกคาม หรือล่วงละเมิดได้ในท้ายที่สุด

ขณะเดียวกัน ไม่เพียงแค่ความเป็นชายเท่านั้นที่กดทับ "ทอม"
กรอบของความเป็นหญิง ความคาดหวังในบทบาทหน้าที่
ก็ทำให้ "ทอม" หลายคนต้องดิ้นรนหาจุดกึ่งกลางในการแสดงตัวตน
ท่ามกลางสายตาของสังคมที่ไม่เข้าใจ
หรือตระหนักถึงการมีอยู่ของอัตลักษณ์ทางเพศนี้
ใต้ร่มความหลากหลายอย่างชัดเจน